300 จำนวนผู้เข้าชม |
Intermittent exotropia due to uncorrected refractive error
"ตาเหล่ออกเป็นครั้งคราวเนื่องจากภาวะสายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข"
ลูกค้าเพศชาย อายุ 10 ปี ไม่เคยใส่แว่นสายตามาก่อน ผู้ปกครองพามาวัดสายตา เนื่องจากสังเกตได้ว่าน้องมีอาการตาขวาเหล่ออกเป็นบางครั้ง
ผลการตรวจ
Visual Acuity ; VAsc (ความสามารถในการมองเห็นตาเปล่า)
OD 20/400 (ตาขวาอ่านเลขนี้ได้ที่ระยะ 20 ฟุต แต่คนปกติอ่านได้ที่ระยะ 400 ฟุต หมายความว่า ตาข้างนี้ค่อนข้างมัวมาก)
OS 20/100 (ตาซ้ายอ่านเลขนี้ได้ที่ระยะ 20 ฟุต แต่คนปกติอ่านได้ที่ระยะ 100 ฟุต)
OU 20/100 (เปิดตาทั้งสองข้าง อ่านเลขนี้ได้ที่ระยะ 20 ฟุต แต่คนปกติอ่านได้ที่ระยะ 100 ฟุต)
*OD คือ ตาขวา, OS คือ ตาซ้าย, OU คือ ตาสองข้าง*
Binocular Vision (การทำงานร่วมกันของสองตา)
X(T); Intermittent exotropia (ตาเหล่ออกเป็นครั้งคราวเมื่อมองไกล)
Refraction (วัดค่าสายตา) เดือน กรกฎาคม 2566
OD -4.00 VA 20/20
OS -1.75-0.50x170 VA 20/20
จากผลการตรวจ เคสนี้มีภาวะ Anisometropia (ค่าสายตาสองข้างต่างกัน) โดยตาขวามีสายตาสั้นมากกว่า ส่วนตาซ้ายมีสายตาสั้น และเอียง ร่วมกับ มีตาเหล่ออกเป็นครั้งคราว
การที่ตาข้างนึงมีความผิดปกติมากกว่าอีกข้างอย่างเห็นได้ชัดแบบกรณีนี้ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ตาข้างนั้นจะถูกกดการทำงานไป ทำให้ตาค่อยๆ เบน/เหล่ออก (อธิบายง่ายๆ คือในเมื่อตาข้างนึงมัวกว่ามากๆ ภาพที่เกิดขึ้นจากตาสองข้าง มีความชัดไม่เท่ากัน ร่างกายจึงปรับตัวด้วยการไม่ใช้ตาข้างที่มัว และใช้เฉพาะข้างที่ชัดกว่าในการมอง ตาข้างที่ไม่ได้ใช้จึงค่อยๆเบนออก)
สำหรับแนวทางการแก้ไขทางร้านจ่ายค่าสายตาแบบ Full correction (ให้ใส่ค่าสายตาเต็มตามที่วัดได้) เพื่อกระตุ้นการมองเห็นในตาทั้งสองข้าง กำชับผู้ปกครองให้น้องใส่แว่นตลอดเวลา และนัดตรวจติดตามในอีก 6 เดือน
เดือนมกราคม 2567 น้องกลับมาตรวจวัดสายตาตามที่นัดหมาย
Refraction (วัดค่าสายตา)
OD -4.25 VA 20/20
OS -2.00-0.50x170 VA 20/20
Binocular Vision (การทำงานร่วมกันของสองตา)
XP; Exophoria (ตาเหล่ออกซ่อนเร้น) ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติของคนทั่วไป
ผลการตรวจล่าสุด มีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนอาการตาเหล่ออกดีขึ้น ไม่มีอาการตาเหล่ออกแบบเห็นได้ชัดแล้ว ทางร้านจึงแนะนำให้เปลี่ยนเลนส์เพื่อปรับค่าสายตา
สำหรับเคสนี้ถือว่าโชคดีมากที่ได้รับการแก้ไขสายตาได้อย่างทันท่วงที น้องจึงกลับมามองเห็นได้ชัดเจน และไม่มีอาการตาเข หรือตาขี้เกียจ
ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของบุตร หลานอย่างใกล้ชิด ถ้าน้องๆมีอาการแสดง เช่น ตาเหล่ กระพริบตาบ่อย การกลอกตาผิดปกติ ควรพาไปพบจักษุแพทย์ หรือนักทัศนมาตร เพื่อตรวจประเมินความผิดปกติและวัดสายตา
บทความโดย โย จุฬารัตน์ O.D. (Doctor of Optometry)
นักทัศนมาตร ประจำร้านแว่นตา กู๊ด วิชั่น